การบัญชีตามความรับผิดชอบ

รับทำบัญชี.COM | การบัญชีตามความรับผิดชอบและการกำหนดราคาโอน?

Click to rate this post!
[Total: 265 Average: 5]

การบัญชีตามความรับผิดชอบ

การบัญชีตามความรับผิดชอบ
การดำเนินกิจการไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบกิจการเจ้าของคนเดียว ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท กิจกรรมการควบคุมการดำเนินงานภายใน เช่น การบริหารต้นทุน ระบบงบประมาณและการบริหารผลกำไร ถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สุดที่ผู้บริหารต้องให้ความใส่ใจเป็นอันดับแรก เนื่องจากหากสามารถควบคุมการดำเนินงานเหล่านี้ได้ดี กิจการก็จะมีเสถียรภาพ มีระบบและง่ายต่อการตรวจสอบยิ่งขึ้น
ซึ่งโดยทั่วไปแล้วหากเป็นรูปแบบกิจการเจ้าของคนเดียว เจ้าของกิจการจะเป็นผู้ควบคุมการดำเนินกิจการภายในทั้งหมด ซึ่งเรียกการบริหารกิจการลักษณะนี้ว่า “การจัดสายงานแบบรวมอำนาจ (Centralization)” อย่างไรก็ตามเมื่อกิจการมีขนาดโตขึ้นการบริหาร ควบคุมการดำเนินงานและตัดสินใจด้วยบุคคลเพียงคนเดียวอาจมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ ดังนั้น “การจัดสายงานแบบกระจายอำนาจ (Decentralization)” จึงเป็นตัวเลือกยอดนิยมที่หลายกิจการเลือกใช้ ซึ่งเป็นการจัดสายงานบริหารโดยแบ่งหน้าที่รับผิดชอบตามลำดับชั้น ได้แก่ ผู้จัดการแผนก หัวหน้าแผนก หัวหน้าฝ่าย เป็นต้น
ซึ่งการจัดสายงานแบบกระจายอำนาจจึงเป็นรูปแบบการบริหารงานโดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน โดยใช้ระบบบัญชีเป็นตัวรายงานผลการปฏิบัตงาน เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงสามารถควบคุมดูแลและวัดผลการปฏิบัติงานได้ง่ายและชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเราเรียกการจัดทำบัญชีแบบนี้ว่า “การบัญชีตามความรับผิดชอบ” และนิยมแบ่งเป็น 4 ศูนย์ความรับผิดชอบ ดังนี้

1.  ศูนย์รายได้ เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับยอดขายหรือรายได้ ของกิจการ เช่น แผนกขาย แผนบริการ เป็นต้น ซึ่งรายงานบัญชีที่เป็นตัวประเมินผลของศูนย์รายได้ คือการเปรียบเทียบรายได้หรือยอดขายของกิจการเทียบกับงบประมาณที่ตั้งไว้ในแต่ละปี และหากกิจการมีหลายสินค้าจะต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์สัดส่วนการขายของแต่ละสินค้า พร้อมเทียบกับความต้องการทั้งหมดในภาพรวมอุตสาหกรรม เพื่อให้ผู้บริหารสามารถนำไปวิเคราะห์เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดของกิจการไว้ได้

2.  ศูนย์ต้นทุน เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยเฉพาะเกี่ยวกับต้นทุนของกิจการ เช่น แผนกผลิต โรงงานผลิตสินค้า แผนกคลังสินค้า แผนกซ่อมบำรุง เป็นต้น ซึ่งการประเมินผลของศูนย์ต้นทุนจะใช้การเปรียบเทียบต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของกิจการเทียบกับงบประมาณที่ตั้งไว้ โดยต้นทุนของกิจการประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ คือ
·  ต้นทุนที่ควบคุมได้ เช่น ราคาวัตถุดิบ ค่าแรงงาน ค่าน้ำค่าไฟในการผลิต เป็นต้น ซึ่งต้นทุนเหล่านี้ผู้จัดการศูนย์ต้นทุนมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการบริหาร ในขณะที่ต้นทุนที่ควบคุมไม่ได้ เช่น การคำนวณค่าเสื่อมของสินทรัพย์ เป็นต้นทุนที่ผู้จัดการศูนย์ ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจบริหารต้นทุนดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการศูนย์ต้นทุนมีหน้าที่โดยตรงในการจัดทำรายงานต้นทุนที่เกิดขึ้นเทียบกับต้นทุนมาตรฐาน เพื่อให้ผู้บริหารนำไปวิเคราะห์ผลต่างที่เกิดขึ้น ซึ่งเรียกว่างบประมาณยืดหยุ่น เพื่อหาทางแก้ไขลดค่าใช้จ่ายจริงที่เกิดขึ้น

3.  ศูนย์กำไร ส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานย่อยซึ่งอยู่ในขอบเขตงานของหน่วยงานขาย/บริการ เช่นผู้จัดการสาขา 1 ,2,3 หน้าที่หลักของศูนย์กำไรคือบริหารงานและจัดทำรายงานควบคุมต้นทุนแต่ละสาขา เพื่อให้เกิดผลกำไรเพิ่มมากขึ้น โดยแตกย่อยรายละเอียดเข้าไปใน ต้นทุนคงที่ ต้นทุนคงที่ทางตรงและต้นทุนคงที่รวม

4.  ศูนย์ลงทุน เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อจำนวนเงินที่ลงทุนของกิจการ โดยส่วนใหญ่ศูนย์นี้อำนาจการบริหารและตัดสินใจจะเป็นของเจ้าของกิจการ หรือคณะกรรมการและประธานกรรมการบริษัท ซึ่งใช้รายงานอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนของแต่ละหน่วยงาน เป็นตัวประเมินภาพรวมของกิจการ จากนั้นนำกำไรสะสมไปวิเคราะห์เพื่อลงทุนเพิ่มเติมหรือจ่ายปันผลคืนให้กับนักลงทุนกรณีบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์
จากหลักการทำบัญชีตามความรับผิดชอบ โดยกระจายอำนาจการบริหารไปยังหน่วยงานหรือศูนย์ต่างๆตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่ามีข้อดีกว่าการของการเลือกบริหารงานแบบรวมอำนาจ เพราะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทั้งในการวางแผน การควบคุมการดำเนินงาน อีกทั้งสามารถติดตามประเมินผลได้เป็นระบบ ช่วยให้ผู้บริหารตัดสินใจขยายหรือปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจการได้ง่าย ด้วยการจัดทำบัญชีตามความรับผิดชอบที่มีประสิทธิภาพ

การบัญชีตามความรับผิดชอบ
การบัญชีตามความรับผิดชอบ