สมการบัญชี

รับทำบัญชี.COM | ประโยชน์ของ สมการบัญชี 5 หมวดมีอะไรบ้าง?

สมการบัญชี

สมการบัญชี (Accounting Equation) หมายถึง สมการที่แสดงความสัมพันธ์ของทรัพยากรกิจการ โดยแสดงความสัมพันธ์ 3 ส่วน สินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของ(ทุน) ซึ่งจะต้องสมดุลกันตามสมการบัญชีเสมอ โดยสามารถเขียนรูปแบบสมการบัญชี ดังนี้ สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ (ทุน)

เพื่อให้ศึกษาวิชาการบัญชีได้เข้าใจและง่ายขึ้น เราจะมาเริ่มต้นกันที่การรู้จักสมการบัญชี ซึ่งสมการบัญชี คือ สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ จะเห็นได้ว่าในสมการบัญชีมีคำที่เกี่ยวข้องอยู่ทั้งหมด 3 คำ คือคำว่า สินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของ เราจะมาทำความเข้าใจกับคำทั้งสามคำนี้ก่อน สินทรัพย์ (Assets) หมายถึง ทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าที่วัดได้เป็นตัวเงินที่กิจการเป็นเจ้าของ ซึ่งจะมีตัวตนหรือไม่มีตัวตนก็ได้ เช่น เงินสด รถยนต์ สัมปทาน เป็นต้น

เราสามารถจำแนกสินทรัพย์ออกเป็นประเภทต่าง ๆ 4 ประเภท ดังนี้

สินทรัพย์

สินทรัพย์

1.สินทรัพย์หมุนเวียน (Current Assets) หมายถึง สินทรัพย์ที่เป็นเงินสด หรือสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ภายใน 1 รอบระยะเวลาของการดำเนินธุรกิจหรือ 1 ปี ได้แก่

1.1 เงินสด (Cash) หมายถึง ธนบัตร และเหรียญกษาปณ์ที่กิจการมีอยู่ในมือ และรวมถึงเช็คที่ถึงกำหนดได้รับเงินแล้วแต่กิจการยังไม่ได้นำไปขึ้นเงินหรือนำฝากธนาคาร ดราฟท์ ธนานัติ แคชเชียร์เช็ค เป็นต้น

1.2 เงินฝากธนาคาร (Cash in Bank or Deposit) หมายถึง บัญชีเงินฝากธนาคารที่กิจการมีอยู่ไม่ว่าจะเป็นบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ บัญชีเงินฝากประจำ

1.3 เงินลงทุนระยะสั้น (Short-term Investment) หมายถึง การที่กิจการได้นำเงินที่มีอยู่ไปลงทุนในหลักทรัพย์ หรือสินทรัพย์อื่น เช่น ทองคำ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเก็งกำไรในระยะสั้น ๆ แล้วขายคืนภายใน 1 ปี

1.4 ลูกหนี้การค้า (Account Receivable) หมายถึง จำนวนเงินที่ลูกค้ามีภาระผูกพันที่จะต้องชดใช้ให้กับกิจการในอนาคตข้างหน้าอันเนื่องมาจากธุรกิจการค้า

1.5 ตั๋วเงินรับ (Notes Receivable) หมายถึง เอกสารหรือสัญญาที่ลูกค้าหรือลูกหนี้ได้ออกให้แก่กิจการเพื่อใช้เป็นเอกสารในการเรียกเก็บเงินภายหลัง เช่น ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน เช็คลงวันที่ล่วงหน้า เป็นต้น

1.6 สินค้าคงเหลือ (Inventories) หมายถึง สินค้าสำเร็จรูป งานระหว่างผลิต วัตถุดิบ ที่มีไว้เพื่อจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อใช้ในการผลิต แต่ยังไม่ได้จำหน่ายออกไปจากกิจการ ยังคงเหลืออยู่ในกิจการ

1.7 ลูกหนี้อื่น ๆ (Other Receivables) หมายถึง ลูกหนี้ที่เกิดจากเหตุการณ์อื่นที่ไม่ใช่เกิดจากการดำเนินธุรกิจตามปกติของกิจการ เช่น เกิดจากการกู้ยืม เป็นต้น

1.8 รายได้ ค้างรับ (Accrued Revenue) หมายถึง รายได้อื่น ๆ ที่ไม่เป็นรายได้จากการดำเนินธุรกิจตามปกติของกิจการที่กิจการควรจะได้รับ แต่ยังไม่ได้รับ เช่น ดอกเบี้ยค้างรับ เป็นต้น

1.9 ค่าใช้จ่ายจ่ายล่วงหน้า (Prepaid Expenses) หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่กิจการได้จ่ายเงินไปก่อน โดยที่ยังไม่ได้รับประโยชน์จากเงินที่จ่ายไปนั้น เช่น ค่าเบี้ยประกันภัยจ่ายล่วงหน้า ค่าเช่าจ่ายล่วงหน้า เป็นต้น

1.10 วัสดุสิ้นเปลือง (Supplies) หมายถึง วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในกิจการที่มีลักษณะที่ใช้แล้วหมดไปภายใน 1 ปี เช่น น้ำมันหล่อลื่น ด้าย ผงซักฟอก เป็นต้น และถ้าหากวัสดุสิ้นเปลืองนั้นใช้ในสำนักงาน ก็จะถูกเรียกว่า วัสดุสำนักงาน (Office Supplies) เช่น ปากกา ดินสอ ลวดเย็บกระดาษ เป็นต้น

2.เงินลงทุนระยะยาว (Long-term Investment) หมายถึง จำนวนเงินที่กิจการนำไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อที่จะได้รับผลตอบแทนในอนาคตข้างหน้า โดยตั้งใจจะลงทุนเป็นระยะเวลานานเกินกว่า 1 ปี

3.สินทรัพย์ถาวร (Fixed Assets) หมายถึง สินทรัพย์ที่มีตัวตนและมีอายุการใช้งานเกิน 1 ปี ที่กิจการมีไว้เพื่อที่จะใช้ผลิตสินค้าหรือบริการเพื่อที่จะก่อให้เกิดรายได้กับกิจการ ตัวอย่างของสินทรัพย์ถาวร ได้แก่ ที่ดิน อาคาร รถยนต์ เครื่องจักร เป็นต้น อย่างไรก็ตามหากสินทรัพย์ที่มีตัวตนและมีอายุการใช้งานเกิน 1 ปี แต่ไม่ได้มีไว้ในเพื่อผลิตสินค้าหรือบริการของกิจการ ก็ไม่ถือว่าเป็นสินทรัพย์ถาวร เช่น หากกิจการเป็นกิจการขายรถยนต์ รถยนต์ที่มีไว้เพื่อขายก็ไม่ถือว่าเป็นสินทรัพย์ถาวร แต่จะถือว่าเป็นสินค้าคงเหลือ หรือหากกิจการซื้อที่ดินไว้เพื่อการเก็งกำไร โดยหากราคาของที่ดินสูงขึ้นจะขายที่ดินแปลงนี้ออกไป ที่ดินแปลงนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นสินทรัพย์ถาวร แต่จะถือว่าเป็นเงินลงทุนระยะยาว เป็นต้น

4.สินทรัพย์อื่น (Other Assets) หมายถึงสินทรัพย์อื่นที่นอกเหนือจากสินทรัพย์ที่ได้กล่าวมาแล้วทั้ง 3 ประเภท ในทางบัญชีสินทรัพย์อื่นนี้จะหมายถึง สินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน เช่น สัมปทาน สิทธิบัตร เป็นต้น ซึ่งสินทรัพย์อื่นนี้จะมีอายุการใช้ประโยชน์เกิน 1 ปี

หนี้สิน (Liabilities) หมายถึง จำนวนเงินที่กิจการเป็นหนี้บุคคลหรือกิจการอื่น ซึ่งมีภาระผูกพันที่จะต้องชำระคืนให้กับบุคคลหรือกิจการเหล่านั้นในอนาคตข้างหน้า หนี้สินสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

หนี้สิน

หนี้สิน

1.หนี้สินหมุนเวียน (Current Liabilities) หมายถึง หนี้สินที่กิจการมีภาระผูกพันที่จะต้องชำระคืนภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ได้แก่

1.1 เงินเบิกเกินบัญชีธนาคาร (Bank Overdraft) หมายถึง เงินที่กิจการเบิกเกินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน ซึ่งธนาคารยอมให้เบิกเกินบัญชีไปก่อนในระยะสั้น ๆ ซึ่งกิจการจะต้องชำระคืนธนาคารในอนาคต

1.2 เงินกู้ยืมธนาคารระยะสั้น (Short-term Bank Loan) หมายถึง การที่กิจการได้ทำสัญญาตกลงกับธนาคารในการกู้ยืมเงินจำนวนหนึ่ง โดยที่มีกำหนดชำระคืนภายใน 1 ปี

1.3 เจ้าหนี้การค้า (Account Payable) หมายถึงจำนวนเงินที่กิจการมีภาระผูกพันที่จะต้องชำระให้กับบุคคลหรือกิจการอื่นเป็นค่าสินค้าหรือบริการที่กิจการซื้อมาเป็นเงินเชื่อ

1.4 ตั๋วเงินจ่าย (Notes Payable) หมายถึง เอกสารที่กิจการออกให้กับบุคคลหรือกิจการ เพื่อเป็นสัญญาว่าเมื่อครบกำหนดตามเอกสารนั้น กิจการจะจ่ายเงินให้กับผู้ที่ถือเอกสาร ในจำนวนเงินตามเอกสารนั้น

1.5 รายได้รับล่วงหน้า (Deferred Revenue) หมายถึง รายได้ที่กิจการได้รับเงินมาแล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งมอบสินค้าหรือบริการให้กับลูกค้า ซึ่งจะมีภาระผูกพันที่จะต้องส่งมอบสินค้าหรือบริการให้กับลูกค้าในอนาคตเนื่องจากได้รับเงินมาแล้ว

1.6 ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย (Accrued Expenses) หมายถึง ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ครบกำหนดที่จะต้องจ่ายแล้ว แต่กิจการยังไม่ได้จ่ายเงิน และกิจการยังไม่เคยรับรู้และมีการบันทึกบัญชีมาก่อน จนถึงวันสิ้นงวดบัญชีของกิจการ เช่น ค่าเช่าค้างจ่าย ค่าสาธารณูปโภคค้างจ่าย เป็นต้น

1.7 เจ้าหนี้อื่น (Other Payable) เจ้าหนี้อื่น หมายถึง ภาระผู้พันที่กิจการจะต้องชำระหนี้ให้กับบุคคลหรือกิจการอื่น ที่ไม่ใช่เจ้าหนี้การค้า เช่น เจ้าหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมระยะสั้นที่ไม่ไช่ธนาคาร เป็นต้น

2.หนี้สินระยะยาว (Long-term Liabilities) หมายถึง ภาระผูกพันที่กิจการจะต้องชำระคืนบุคคลหรือกิจการอื่น ที่มีระยะเวลาการชำระคืนเกิน 1 ปี แต่ถ้าหากหนี้สินระยะยาวใดที่จะถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปีข้างหน้า หนี้สินระยะยาวจำนวนนั้น จะถือเป็นหนี้สินหมุนเวียน ตัวอย่างเช่น กิจการกู้เงินกู้ระยะยาวจากธนาคารจำนวน 1,000,000 บาท มีกำหนดชำระคืนเงินต้น 10 ปี ปีละ 100,000 บาท เริ่มชำระคืนเงินต้นปีหน้านี้เป็นปีแรก ดังนั้น เงินจำนวน 100,000 บาท ที่จะต้องชำระคืนในปีหน้า จะถือว่าเป็นหนี้สินหมุนเวียน และหนี้สินระยะยาวจะเป็นจำนวนเงินเพียงแค่ 900,000 บาท หนี้สินระยะยาวแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

2.1 หุ้นกู้ (Bonds Payable) หมายถึง การที่กิจการกู้เงินจากบุคคลภายนอก โดยออกหุ้นกู้ไว้ให้เป็นหลักฐาน ซึ่งกิจการจะจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นกู้ในรูปของดอกเบี้ย ซึ่งหุ้นกู้นี้มักจะมีกำหนดการไถ่ถอนมากกว่า 1 ปีและเมื่อครบกำหนดไถ่ถอนแล้ว กิจการก็จะต้องนำเงินไปชำระคืนให้กับผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งเราเรียกว่าการไถ่ถอนหุ้นกู้นั้นเอง

2.2 เงินกู้ระยะยาวโดยมีการจำนอง หรือเงินกู้จำนอง (Mortgage Loan) หมายถึง การที่กิจการได้ทำการกู้ยืมเงินจากบุคคลหรือกิจการหรือสถาบันการเงิน โดยการนำสินทรัพย์ถาวรของกิจการไปจำนองกับผู้ให้กู้ไว้เพื่อเป็นหลักประกันเงินกู้ และเงินกู้นั้นมีกำหนดชำระคืนเงินต้นเกิน 1 ปีขึ้นไป

2.3 เงินกู้ระยะยาวโดยไม่มีการจำนอง หรือเงินกู้ระยะยาว (Long-term Loan) หมายถึง การที่กิจการได้ทำการกู้ยืมเงินกู้ระยะยาวจากบุคคลหรือกิจการหรือสถาบันการเงิน โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ไปค้ำประกัน และเงินกู้นั้นมีกำหนดชำระคืนเงินต้นเกิน 1 ปีขึ้นไป

ส่วนของเจ้าของ (Owner’s Equity) หรือ บางทีอาจจะเรียกว่า ทุน (Proprietorship) หมายถึง มูลค่าของสินทรัพย์ทีเจ้าของกิจการเป็นเจ้าของ โดยปราศจากการมีหนี้สินทึ่จะต้องชำระคืนในอนาคต

ส่วนของเจ้าของของกิจการที่ดำเนินงานแต่ละรูปแบบมีความแตกต่างกัน ดังนี้

ส่วนของเจ้าของ

ส่วนของเจ้าของ

1. กิจการเจ้าของคนเดียว (Individual Proprietorship) สำหรับกิจการเจ้าของคนเดียว  ส่วนของเจ้าของคือสินทรัพย์ที่เจ้าของกิจการนำมาลงทุนในกิจการเป็นครั้งแรก ซึ่งจะเรียกว่า “ทุน” ทุนจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจากผลการดำเนินงานของกิจการที่มีกำไร หรือจากการที่เจ้าของกิจการนำสินทรัพย์มาลงทุนเพิ่มเติม และทุนจะมีจำนวนลดลงจากผลการดำเนินงานของกิจการที่ขาดทุน หรือจากการที่เจ้าของกิจการได้ถอนทุนคืนไป

2. กิจการห้างหุ้นส่วน (Partnership) สำหรับกิจการห้างหุ้นส่วน ส่วนของเจ้าของจะเรียกว่า “ส่วนของผู้ถือหุ้น” ซึ่งจะประกอบไปด้วยทุนของผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคน และทุนของผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคนจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อได้รับส่วนแบ่งกำไร หรือมีการลงทุนเพิ่ม และทุนของผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคนจะลดลงเมื่อได้รับส่วนแบ่งการขาดทุน หรือเมื่อมีการถอนทุนคืน

3. กิจการบริษัทจำกัด (Limited Company) สำหรับกิจการบริษัทจำกัด ส่วนของเจ้าของจะเรียกว่า “ส่วนของผู้ถือหุ้น” ซึ่งจะประกอบไปด้วย ทุนเรือนหุ้นไม่ว่าจะเป็นหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิ์ ส่วนเกินมูลค่าหุ้นสามัญ ซึ่งคือจำนวนเงินที่ได้มาจากการจำหน่ายหุ้นในราคาที่สูงกว่ามูลค่าที่ตราไว้ และกำไรสะสมหรือขาดทุนสะสม ซึ่งหมายถึงผลการดำเนินงานที่สะสมมาในแต่ละปีตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการ

จาก สมการบัญชี สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ

ทำให้เราเข้าใจได้ว่าสินทรัพย์ซึ่งเป็นของกิจการนั้นประกอบไปด้วยแหล่งที่มา 2 แหล่ง ก็คือมาจาก การกู้ยืม หรือเป็นหนี้บุคคล หรือกิจการอื่นซึ่งมีภาระผูกพันที่จะต้องชำระคืนในอนาคต (หนี้สิน) และอีกแหล่งคือเป็นของกิจการเอง โดยไม่มีภาระผูกพันที่จะต้องชำระคืนในอนาคต (ส่วนของเจ้าของ)
จาก สมการบัญชี สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ
จาก สมการบัญชี สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ

Accounting in English (รับทำบัญชี ภาษาอังกฤษ)

We provide accounting services by preparing financial statements in English version. Our specialist team will collect your business's financial information in a strict, and simple manner.

We will issue useful financial statements, accurate, and efficient. You can make business decisions with confidence, and spend less time managing accounting work which is safe and reliable.

Whether you are a small or large business. Our services will be fully responsive to your needs and goals. We will support you in developing and growing your business.

Contact : 084-343-8968 ( Chaniyada )