สมการบัญชี

รับทำบัญชี.COM | ประโยชน์ของ สมการบัญชี 5 หมวดมีอะไรบ้าง?

Click to rate this post!
[Total: 74 Average: 5]

สมการบัญชี

สมการบัญชี (Accounting Equation) หมายถึง สมการที่แสดงความสัมพันธ์ของทรัพยากรกิจการ โดยแสดงความสัมพันธ์ 3 ส่วน สินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของ(ทุน) ซึ่งจะต้องสมดุลกันตามสมการบัญชีเสมอ โดยสามารถเขียนรูปแบบสมการบัญชี ดังนี้ สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ (ทุน)

เพื่อให้ศึกษาวิชาการบัญชีได้เข้าใจและง่ายขึ้น เราจะมาเริ่มต้นกันที่การรู้จักสมการบัญชี ซึ่งสมการบัญชี คือ สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ จะเห็นได้ว่าในสมการบัญชีมีคำที่เกี่ยวข้องอยู่ทั้งหมด 3 คำ คือคำว่า สินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของ เราจะมาทำความเข้าใจกับคำทั้งสามคำนี้ก่อน สินทรัพย์ (Assets) หมายถึง ทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าที่วัดได้เป็นตัวเงินที่กิจการเป็นเจ้าของ ซึ่งจะมีตัวตนหรือไม่มีตัวตนก็ได้ เช่น เงินสด รถยนต์ สัมปทาน เป็นต้น

เราสามารถจำแนกสินทรัพย์ออกเป็นประเภทต่าง ๆ 4 ประเภท ดังนี้

สินทรัพย์

สินทรัพย์

1.สินทรัพย์หมุนเวียน (Current Assets) หมายถึง สินทรัพย์ที่เป็นเงินสด หรือสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ภายใน 1 รอบระยะเวลาของการดำเนินธุรกิจหรือ 1 ปี ได้แก่

1.1 เงินสด (Cash) หมายถึง ธนบัตร และเหรียญกษาปณ์ที่กิจการมีอยู่ในมือ และรวมถึงเช็คที่ถึงกำหนดได้รับเงินแล้วแต่กิจการยังไม่ได้นำไปขึ้นเงินหรือนำฝากธนาคาร ดราฟท์ ธนานัติ แคชเชียร์เช็ค เป็นต้น

1.2 เงินฝากธนาคาร (Cash in Bank or Deposit) หมายถึง บัญชีเงินฝากธนาคารที่กิจการมีอยู่ไม่ว่าจะเป็นบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ บัญชีเงินฝากประจำ

1.3 เงินลงทุนระยะสั้น (Short-term Investment) หมายถึง การที่กิจการได้นำเงินที่มีอยู่ไปลงทุนในหลักทรัพย์ หรือสินทรัพย์อื่น เช่น ทองคำ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเก็งกำไรในระยะสั้น ๆ แล้วขายคืนภายใน 1 ปี

1.4 ลูกหนี้การค้า (Account Receivable) หมายถึง จำนวนเงินที่ลูกค้ามีภาระผูกพันที่จะต้องชดใช้ให้กับกิจการในอนาคตข้างหน้าอันเนื่องมาจากธุรกิจการค้า

1.5 ตั๋วเงินรับ (Notes Receivable) หมายถึง เอกสารหรือสัญญาที่ลูกค้าหรือลูกหนี้ได้ออกให้แก่กิจการเพื่อใช้เป็นเอกสารในการเรียกเก็บเงินภายหลัง เช่น ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน เช็คลงวันที่ล่วงหน้า เป็นต้น

1.6 สินค้าคงเหลือ (Inventories) หมายถึง สินค้าสำเร็จรูป งานระหว่างผลิต วัตถุดิบ ที่มีไว้เพื่อจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อใช้ในการผลิต แต่ยังไม่ได้จำหน่ายออกไปจากกิจการ ยังคงเหลืออยู่ในกิจการ

1.7 ลูกหนี้อื่น ๆ (Other Receivables) หมายถึง ลูกหนี้ที่เกิดจากเหตุการณ์อื่นที่ไม่ใช่เกิดจากการดำเนินธุรกิจตามปกติของกิจการ เช่น เกิดจากการกู้ยืม เป็นต้น

1.8 รายได้ ค้างรับ (Accrued Revenue) หมายถึง รายได้อื่น ๆ ที่ไม่เป็นรายได้จากการดำเนินธุรกิจตามปกติของกิจการที่กิจการควรจะได้รับ แต่ยังไม่ได้รับ เช่น ดอกเบี้ยค้างรับ เป็นต้น

1.9 ค่าใช้จ่ายจ่ายล่วงหน้า (Prepaid Expenses) หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่กิจการได้จ่ายเงินไปก่อน โดยที่ยังไม่ได้รับประโยชน์จากเงินที่จ่ายไปนั้น เช่น ค่าเบี้ยประกันภัยจ่ายล่วงหน้า ค่าเช่าจ่ายล่วงหน้า เป็นต้น

1.10 วัสดุสิ้นเปลือง (Supplies) หมายถึง วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในกิจการที่มีลักษณะที่ใช้แล้วหมดไปภายใน 1 ปี เช่น น้ำมันหล่อลื่น ด้าย ผงซักฟอก เป็นต้น และถ้าหากวัสดุสิ้นเปลืองนั้นใช้ในสำนักงาน ก็จะถูกเรียกว่า วัสดุสำนักงาน (Office Supplies) เช่น ปากกา ดินสอ ลวดเย็บกระดาษ เป็นต้น

2.เงินลงทุนระยะยาว (Long-term Investment) หมายถึง จำนวนเงินที่กิจการนำไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อที่จะได้รับผลตอบแทนในอนาคตข้างหน้า โดยตั้งใจจะลงทุนเป็นระยะเวลานานเกินกว่า 1 ปี

3.สินทรัพย์ถาวร (Fixed Assets) หมายถึง สินทรัพย์ที่มีตัวตนและมีอายุการใช้งานเกิน 1 ปี ที่กิจการมีไว้เพื่อที่จะใช้ผลิตสินค้าหรือบริการเพื่อที่จะก่อให้เกิดรายได้กับกิจการ ตัวอย่างของสินทรัพย์ถาวร ได้แก่ ที่ดิน อาคาร รถยนต์ เครื่องจักร เป็นต้น อย่างไรก็ตามหากสินทรัพย์ที่มีตัวตนและมีอายุการใช้งานเกิน 1 ปี แต่ไม่ได้มีไว้ในเพื่อผลิตสินค้าหรือบริการของกิจการ ก็ไม่ถือว่าเป็นสินทรัพย์ถาวร เช่น หากกิจการเป็นกิจการขายรถยนต์ รถยนต์ที่มีไว้เพื่อขายก็ไม่ถือว่าเป็นสินทรัพย์ถาวร แต่จะถือว่าเป็นสินค้าคงเหลือ หรือหากกิจการซื้อที่ดินไว้เพื่อการเก็งกำไร โดยหากราคาของที่ดินสูงขึ้นจะขายที่ดินแปลงนี้ออกไป ที่ดินแปลงนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นสินทรัพย์ถาวร แต่จะถือว่าเป็นเงินลงทุนระยะยาว เป็นต้น

4.สินทรัพย์อื่น (Other Assets) หมายถึงสินทรัพย์อื่นที่นอกเหนือจากสินทรัพย์ที่ได้กล่าวมาแล้วทั้ง 3 ประเภท ในทางบัญชีสินทรัพย์อื่นนี้จะหมายถึง สินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน เช่น สัมปทาน สิทธิบัตร เป็นต้น ซึ่งสินทรัพย์อื่นนี้จะมีอายุการใช้ประโยชน์เกิน 1 ปี

หนี้สิน (Liabilities) หมายถึง จำนวนเงินที่กิจการเป็นหนี้บุคคลหรือกิจการอื่น ซึ่งมีภาระผูกพันที่จะต้องชำระคืนให้กับบุคคลหรือกิจการเหล่านั้นในอนาคตข้างหน้า หนี้สินสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

หนี้สิน

หนี้สิน

1.หนี้สินหมุนเวียน (Current Liabilities) หมายถึง หนี้สินที่กิจการมีภาระผูกพันที่จะต้องชำระคืนภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ได้แก่

1.1 เงินเบิกเกินบัญชีธนาคาร (Bank Overdraft) หมายถึง เงินที่กิจการเบิกเกินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน ซึ่งธนาคารยอมให้เบิกเกินบัญชีไปก่อนในระยะสั้น ๆ ซึ่งกิจการจะต้องชำระคืนธนาคารในอนาคต

1.2 เงินกู้ยืมธนาคารระยะสั้น (Short-term Bank Loan) หมายถึง การที่กิจการได้ทำสัญญาตกลงกับธนาคารในการกู้ยืมเงินจำนวนหนึ่ง โดยที่มีกำหนดชำระคืนภายใน 1 ปี

1.3 เจ้าหนี้การค้า (Account Payable) หมายถึงจำนวนเงินที่กิจการมีภาระผูกพันที่จะต้องชำระให้กับบุคคลหรือกิจการอื่นเป็นค่าสินค้าหรือบริการที่กิจการซื้อมาเป็นเงินเชื่อ

1.4 ตั๋วเงินจ่าย (Notes Payable) หมายถึง เอกสารที่กิจการออกให้กับบุคคลหรือกิจการ เพื่อเป็นสัญญาว่าเมื่อครบกำหนดตามเอกสารนั้น กิจการจะจ่ายเงินให้กับผู้ที่ถือเอกสาร ในจำนวนเงินตามเอกสารนั้น

1.5 รายได้รับล่วงหน้า (Deferred Revenue) หมายถึง รายได้ที่กิจการได้รับเงินมาแล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งมอบสินค้าหรือบริการให้กับลูกค้า ซึ่งจะมีภาระผูกพันที่จะต้องส่งมอบสินค้าหรือบริการให้กับลูกค้าในอนาคตเนื่องจากได้รับเงินมาแล้ว

1.6 ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย (Accrued Expenses) หมายถึง ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ครบกำหนดที่จะต้องจ่ายแล้ว แต่กิจการยังไม่ได้จ่ายเงิน และกิจการยังไม่เคยรับรู้และมีการบันทึกบัญชีมาก่อน จนถึงวันสิ้นงวดบัญชีของกิจการ เช่น ค่าเช่าค้างจ่าย ค่าสาธารณูปโภคค้างจ่าย เป็นต้น

1.7 เจ้าหนี้อื่น (Other Payable) เจ้าหนี้อื่น หมายถึง ภาระผู้พันที่กิจการจะต้องชำระหนี้ให้กับบุคคลหรือกิจการอื่น ที่ไม่ใช่เจ้าหนี้การค้า เช่น เจ้าหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมระยะสั้นที่ไม่ไช่ธนาคาร เป็นต้น

2.หนี้สินระยะยาว (Long-term Liabilities) หมายถึง ภาระผูกพันที่กิจการจะต้องชำระคืนบุคคลหรือกิจการอื่น ที่มีระยะเวลาการชำระคืนเกิน 1 ปี แต่ถ้าหากหนี้สินระยะยาวใดที่จะถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปีข้างหน้า หนี้สินระยะยาวจำนวนนั้น จะถือเป็นหนี้สินหมุนเวียน ตัวอย่างเช่น กิจการกู้เงินกู้ระยะยาวจากธนาคารจำนวน 1,000,000 บาท มีกำหนดชำระคืนเงินต้น 10 ปี ปีละ 100,000 บาท เริ่มชำระคืนเงินต้นปีหน้านี้เป็นปีแรก ดังนั้น เงินจำนวน 100,000 บาท ที่จะต้องชำระคืนในปีหน้า จะถือว่าเป็นหนี้สินหมุนเวียน และหนี้สินระยะยาวจะเป็นจำนวนเงินเพียงแค่ 900,000 บาท หนี้สินระยะยาวแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

2.1 หุ้นกู้ (Bonds Payable) หมายถึง การที่กิจการกู้เงินจากบุคคลภายนอก โดยออกหุ้นกู้ไว้ให้เป็นหลักฐาน ซึ่งกิจการจะจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นกู้ในรูปของดอกเบี้ย ซึ่งหุ้นกู้นี้มักจะมีกำหนดการไถ่ถอนมากกว่า 1 ปีและเมื่อครบกำหนดไถ่ถอนแล้ว กิจการก็จะต้องนำเงินไปชำระคืนให้กับผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งเราเรียกว่าการไถ่ถอนหุ้นกู้นั้นเอง

2.2 เงินกู้ระยะยาวโดยมีการจำนอง หรือเงินกู้จำนอง (Mortgage Loan) หมายถึง การที่กิจการได้ทำการกู้ยืมเงินจากบุคคลหรือกิจการหรือสถาบันการเงิน โดยการนำสินทรัพย์ถาวรของกิจการไปจำนองกับผู้ให้กู้ไว้เพื่อเป็นหลักประกันเงินกู้ และเงินกู้นั้นมีกำหนดชำระคืนเงินต้นเกิน 1 ปีขึ้นไป

2.3 เงินกู้ระยะยาวโดยไม่มีการจำนอง หรือเงินกู้ระยะยาว (Long-term Loan) หมายถึง การที่กิจการได้ทำการกู้ยืมเงินกู้ระยะยาวจากบุคคลหรือกิจการหรือสถาบันการเงิน โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ไปค้ำประกัน และเงินกู้นั้นมีกำหนดชำระคืนเงินต้นเกิน 1 ปีขึ้นไป

ส่วนของเจ้าของ (Owner’s Equity) หรือ บางทีอาจจะเรียกว่า ทุน (Proprietorship) หมายถึง มูลค่าของสินทรัพย์ทีเจ้าของกิจการเป็นเจ้าของ โดยปราศจากการมีหนี้สินทึ่จะต้องชำระคืนในอนาคต

ส่วนของเจ้าของของกิจการที่ดำเนินงานแต่ละรูปแบบมีความแตกต่างกัน ดังนี้

ส่วนของเจ้าของ

ส่วนของเจ้าของ

1. กิจการเจ้าของคนเดียว (Individual Proprietorship) สำหรับกิจการเจ้าของคนเดียว  ส่วนของเจ้าของคือสินทรัพย์ที่เจ้าของกิจการนำมาลงทุนในกิจการเป็นครั้งแรก ซึ่งจะเรียกว่า “ทุน” ทุนจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจากผลการดำเนินงานของกิจการที่มีกำไร หรือจากการที่เจ้าของกิจการนำสินทรัพย์มาลงทุนเพิ่มเติม และทุนจะมีจำนวนลดลงจากผลการดำเนินงานของกิจการที่ขาดทุน หรือจากการที่เจ้าของกิจการได้ถอนทุนคืนไป

2. กิจการห้างหุ้นส่วน (Partnership) สำหรับกิจการห้างหุ้นส่วน ส่วนของเจ้าของจะเรียกว่า “ส่วนของผู้ถือหุ้น” ซึ่งจะประกอบไปด้วยทุนของผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคน และทุนของผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคนจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อได้รับส่วนแบ่งกำไร หรือมีการลงทุนเพิ่ม และทุนของผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคนจะลดลงเมื่อได้รับส่วนแบ่งการขาดทุน หรือเมื่อมีการถอนทุนคืน

3. กิจการบริษัทจำกัด (Limited Company) สำหรับกิจการบริษัทจำกัด ส่วนของเจ้าของจะเรียกว่า “ส่วนของผู้ถือหุ้น” ซึ่งจะประกอบไปด้วย ทุนเรือนหุ้นไม่ว่าจะเป็นหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิ์ ส่วนเกินมูลค่าหุ้นสามัญ ซึ่งคือจำนวนเงินที่ได้มาจากการจำหน่ายหุ้นในราคาที่สูงกว่ามูลค่าที่ตราไว้ และกำไรสะสมหรือขาดทุนสะสม ซึ่งหมายถึงผลการดำเนินงานที่สะสมมาในแต่ละปีตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการ

จาก สมการบัญชี สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ

ทำให้เราเข้าใจได้ว่าสินทรัพย์ซึ่งเป็นของกิจการนั้นประกอบไปด้วยแหล่งที่มา 2 แหล่ง ก็คือมาจาก การกู้ยืม หรือเป็นหนี้บุคคล หรือกิจการอื่นซึ่งมีภาระผูกพันที่จะต้องชำระคืนในอนาคต (หนี้สิน) และอีกแหล่งคือเป็นของกิจการเอง โดยไม่มีภาระผูกพันที่จะต้องชำระคืนในอนาคต (ส่วนของเจ้าของ)
จาก สมการบัญชี สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ
จาก สมการบัญชี สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ